NB-IoT คือ อะไร? และจะช่วยธุรกิจในด้าน Digital Transformation ได้อย่างไร

NB-IoT คือ หนึ่งในมาตรฐานการสื่อสารระยะไกลแบบใช้พลังงานต่ำ (LPWA) เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากระบบ LTE (4G) เพื่อทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านโครงข่ายของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (คลื่นมือถือ) โดยใช้พลังงานต่ำ

NB-IoT คือ

          ในปัจจุบัน เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) หรือ ไอโอที (IoT) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ มากมายในทุกวันนี้ สามารถที่จะรับส่งข้อมูลสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต และเราสามารถสั่งการหรือควบคุมสรรพอุปกรณ์เหล่านี้ได้ผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างที่เห็นได้จากรอบๆ ตัวเรา เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) ที่มีการประมวลผลจากส่วนกลางในการแปรสัญญาณจากเซนเซอร์ที่ติดรอบตัวรถ หรือบ้านอัจฉริยะ (Smart home) ที่มีเซนเซอร์ตรวจสอบว่าเราอยู่ในบ้านหรือไม่ และจะเปิด-ปิดไฟในบ้านให้อัตโนมัติ เป็นต้น

          แน่นอนว่าโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี IoT ก็คือเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Network) ซึ่งเป็นโครงข่ายที่มีความครอบคลุมและทั่วถึงที่สุด และช่วยอำนวยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้สมดังปณิธานของเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) นั่นคือ เชื่อมต่อกับสรรพสิ่งได้อย่างคล่องตัวไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

          สำหรับเทคโนโลยีแบบไร้สายที่ใช้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต จะแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ
1. เทคโนโลยีไร้สายแบบระยะใกล้ (Short-range Communication) ได้แก่ เทคโนโลยี Wi-Fi, Bluetooth, Zigbee, Z-wave เป็นต้น
2. เทคโนโลยีไร้สายแบบระยะไกล (Long-range หรือ Wide-area Communication) ได้แก่ เครือข่ายมือถือ (Cellular Network) เช่น GSM/GPRS (2G), UMTS (3G), LTE (4G) ซึ่งเป็นการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ (RF : Radio Frequency)

          เดิมทีเทคโนโลยี 3G และ 4G ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ต้องใช้พลังงานมาก และกินทรัพยากรของอุปกรณ์อยู่พอสมควร เมื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์ IoT ทำให้เกิดข้อจำกัดอยู่หลายประการ
     – อุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่ การทำงานมักเป็นเพียงแค่การรับคำสั่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาก เมื่อนำมาเชื่อมต่อด้วยระบบ 3G/4G จึงใช้พลังงานสูงเกินจำเป็นในการรับส่งสัญญาณ
     – อุปกรณ์ IoT ทั่วไปมักมีแหล่งพลังงานเป็นแบตเตอรี่เล็กๆ อยู่ในตัว เมื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยสัญญาณ 4G/5G จะทำให้พลังงานหมดเร็ว จึงไม่เหมาะกับอุปกรณ์ IoT บางชนิดที่ไม่สามารถชาร์จหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้บ่อยครั้ง
     – อุปกรณ์ IoT บางชนิด เช่น เซ็นเซอร์ต่างๆ อาจติดตั้งอยู่ในบริเวณที่สัญญาณมือถือปกติเข้าไปไม่ถึง เช่น อยู่ใต้ดิน หรือมีผนังกำแพงขวาง จึงอาจจะไม่สามารถใช้งานอุปกรณ์ IoT เหล่านี้ผ่านระบบมือถือ 4G/5G ได้

          ด้วยเหตุนี้ องค์กร 3GPP จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี LPWAN (Low-power Wide-area Network หรือเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะไกลแบบใช้พลังงานต่ำ) ซึ่งเป็นการปรับปรุงสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีเครือข่ายที่ใช้ในระบบ Cellular ให้มีการใช้พลังงานต่ำ ครอบคลุมพื้นที่ได้ไกล และมีความสามารถในการทะลุทะลวงสูง เพื่อรองรับกับการใช้งาน IoT

*3GPP หรือชื่อเต็มว่า The 3rd Generation Partnership Project เป็นองค์กรที่คอยดูแลข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างองค์กรพัฒนามาตรฐานไร้สายต่างๆ กับหน่วยงานด้านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการกำหนดสเปคทางด้านการสื่อสารผ่านเครือข่ายสัญญานมือถือ

          โดยรูปแบบการสื่อสารไร้สายระยะไกลแบบใช้พลังงานต่ำ (LPWAN) ตามมาตรฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่สากล (3GPP Standards) ประกอบไปด้วยมาตรฐาน NB-IoT (Narrowband IoT), LTE-M (LTE for Machine) และ EC-GSM (Extended Coverage GSM) ซึ่งในที่นี้จะอธิบายเฉพาะรูปแบบ NB-IoT เท่านั้น ส่วนอีกสองรูปแบบจะขอกล่าวรายละเอียดในบทความถัดไป

NB-IoT คือ ?

          NB-IoT (Narrowband Internet of Things) เป็นหนึ่งในมาตรฐานการสื่อสารระยะไกลแบบใช้พลังงานต่ำ (LPWA) ที่ถูกประกาศใน 3GPP Release 13 (LTE-Advanced Pro) ในเดือนมิถุนายนปี 2016 โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากระบบ LTE (4G) ในขณะนั้น ดังนั้นจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการประกาศมาตรฐานใหม่ 4.5G

          มีเป้าหมายหลักในการทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านโครงข่ายของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (คลื่นมือถือ) โดยใช้พลังงานต่ำ

          อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันภายใต้โปรโตคอล NB-IoT จะสื่อสารกันด้วยคลื่นความถี่ RF ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งทำให้สามารถใช้ได้ผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเท่านั้น เพียงแค่มีซิม (SIM) ติดตั้งในอุปกรณ์นั้นๆ ก็ทำให้สามารถเชื่อมต่อกันได้แล้ว แม้อุปกรณ์ต่างๆ จะอยู่ห่างไกลกันก็สามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อผ่านสายให้ยุ่งยาก

คุณสมบัติเด่นของเทคโนโลยีนี้

  • ใช้งานบนโครงข่ายของระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้ในระยะไกล โดยไม่ต้องเชื่อมต่อสายให้ยุ่งยาก
  • อัตราสิ้นเปลืองพลังงานต่ำมาก และมีการส่งข้อมูล uplink ในขนาดที่เหมาะสม ทำให้รองรับการใช้งานอุปกรณ์ IoT ได้เกิน 10 ปีต่อการชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ของอุปกรณ์
  • ใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตน้อย ทำให้ประหยัด Bandwidth
  • สามารถใช้งานได้ทั้งในพื้นที่กว้างนอกอาคาร และพื้นที่ภายในอาคาร
  • ประสิทธิภาพในการรับสัญญาณดี (รองรับสัญญาณได้ดีขึ้น 20 dB หรือเพิ่มพื้นที่ให้บริการได้ 10 เท่า)
  • สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น รวมถึงบริเวณที่ปกติยากต่อการเข้าถึงของสัญญานมือถือ เช่น พื้นที่ห่างไกล, ภายในส่วนลึกของตัวอาคารที่มีกำแพงหรือผนังหลายชั้น หรือลานจอดรถชั้นใต้ดินใต้ดิน
  • รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ได้เป็นจำนวนมาก (สูงสุดระดับแสนอุปกรณ์ต่อสถานีฐาน)
  • รัศมีของเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่กว้าง เสาส่ง (Cell Site) สามารถส่งคลื่นสัญญาณไปได้ไกลกว่า 10 กิโลเมตรต่อสถานี
  • ใช้งานง่ายและสะดวก สามารถใช้งานบนเครือข่าย NB-IoT ได้ทันที เพียงใส่ซิม
  • อุปกรณ์ NB-IoT มีราคาไม่สูง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่ใหญ่ การขยายเครือข่าย NB-IoT จึงใช้เงินลงทุนต่ำ และประหยัดงบประมาณ
  • การขยายเครือข่ายอุปกรณ์ IoT ทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะออกแบบให้ใช้ร่วมกับโครงข่ายเดิมที่เป็น 4G ได้ สามารถติดตั้งเข้ากับอาคารสถานีปล่อยสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้โดยง่าย
  • มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ตามมาตรฐานโทรคมนาคมระดับสากล
ข้อดีของ NB-IoT

อุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้งานบนเครือข่าย

  • อุปกรณ์ IoT ที่มีแบตเตอรี่ขนาดเล็ก หรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell)
  • อุปกรณ์ IoT ที่ Application บนอุปกรณ์มีความถี่ในการรับส่งข้อมูลไม่บ่อย หรือบ่อยแต่ปริมาณข้อมูลไม่มาก ข้อมูลที่รับส่งมีขนาดไม่ใหญ่ ไม่ต้องการความเร็วในการส่งข้อมูลมากนัก ไม่จำเป็นต้องใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่แรงมาก
  • อุปกรณ์ IoT ที่ติดตั้งภายในพื้นที่ห่างไกลจากสถานีปล่อยสัญญาณโทรศัพท์
  • อุปกรณ์ IoT ที่ติดตั้งภายในพื้นที่ซึ่งสัญญาณยากที่จะทะลุผ่าน เช่น ในตึกสูงหรือใต้ดิน
  • อุปกรณ์ IoT ที่ไม่มีการเคลื่อนที่ (อาทิ Stationary Sensor)
  • อุปกรณ์ IoT ที่ต้องการความเร็วของสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่สูงมาก (ไม่เกิน 200 Kbps)
  • อุปกรณ์ IoT ที่มีการทำงานไม่ซับซ้อน หรือทำงานเป็นบางเวลา เช่น มิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟ และเซ็นเซอร์ประตู
  • อุปกรณ์ IoT ที่สื่อสารระหว่างเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ IoT ด้วยกันเอง (M2M : Machine To Machine)
  • อุปกรณ์ IoT ที่สื่อสารแบบทางเดียว เช่น รับข้อมูลอย่างเดียว หรือส่งข้อมูลอย่างเดียว
  • อุปกรณ์ IoT ที่ไม่ต้องใช้งานเสียง

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี

          Internet of Things หรือ IoT เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศภายใต้ Thailand 4.0 และ อุตสาหกรรม Industry 4.0 และช่วยขับเคลื่อน Digital Transformation ของหลากหลายธุรกิจ ธุรกิจที่นำร่องไปก่อนคือภาคอุตสาหกรรม เพราะมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น สำหรับประเทศไทย ภาคพลังงานเป็นกลุ่มที่นำ IoT ไปใช้มากที่สุด รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เช่น กลุ่มบริการขนส่ง และกลุ่มบริการด้านการเงิน

          ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ของ NB-IoT ทำให้เหมาะจะนำไปใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์กลุ่ม Smart Things ที่เน้นการอ่านค่าข้อมูลจาก Sensor และรับคำสั่งจาก Server หรือ Cloud ส่วนกลาง ตัวอย่างการนำไปใช้งานมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม ด้านการเกษตรกรรม ด้านการขนส่ง และอื่นๆ อีกหลากหลาย เช่น

  • ระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
              ปัจจุบัน เทคโนโลยี NB IoT มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสบาย รักษาความปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในเมือง เช่น ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ควบคุมระบบสัญญาณไฟจราจร, ช่วยตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อม, จัดการระบบสาธารณูปโภค, จัดการน้ำ หรือวัดความหนาแน่นของสภาพการจราจร เป็นต้น
  • ระบบอาคารอัจฉริยะ (Smart Building / Smart Home) และระบบ Smart Life
              Sensor ภายในบ้านหรืออาคารที่เชื่อมต่อเครือข่ายสัญญาณ NB IoT ช่วยสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต เช่น ควบคุมเปิดปิดไฟฟ้า/พัดลม/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากระยะไกลผ่านโทรศัพท์มือถือ, ตั้งค่าให้เปิดแอร์อัตโนมัติเมื่อกลับถึงบ้าน, เชื่อมต่ออุปกรณ์ดูแลสุขภาพ, ส่งสัญญาณเตือนว่าตัวอาคารควรต้องซ่อมบำรุง หรือส่งสัญญาณเตือนด้านความปลอดภัย เป็นต้น ระบบมิเตอร์อัจฉริยะสำหรับวัดการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าแบบ real-time ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือก็เหมาะสมกับการใช้ NB-IoT เช่นกัน
  • ระบบลานจอดรถอัจฉริยะ (Smart Parking)
              ในหลายอาคารสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้า มีระบบลานจอดรถอัจฉริยะ (Smart Parking) โดยจะมีการติดตั้ง Sensor ไว้ในทุกช่องจอด Sensor แต่ละตัวจะมีแบตเตอรี่เล็กๆ อยู่ภายใน และเชื่อมต่อกับ Server ส่วนกลางผ่านทางเครือข่าย NB-IoT โดยไม่ต้องลากสายเชื่อมต่อ ทำให้ระบบส่วนกลางสามารถประมวลผลและแสดงจำนวนช่องจอดรถที่ยังว่างในแต่ละชั้นให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการได้
  • ระบบเกษตรและฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm / Smart Agriculture)
               การเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี NB IoT ช่วยให้เกษตรกรก้าวสู่ยุคเกษตร 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลที่ได้มาจากเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ หรือความชื้นของดิน เพื่อวางแผนการผลิต หรือสร้างระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ เช่น ตั้งเวลาให้รดน้ำอัตโนมัติในแปลงปลูกพืช, ควบคุมแสงสว่างในคอกสัตว์, ควบคุมอุณหภูมิในห้องอนุบาลตัวอ่อน รวมทั้งสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
  • ระบบตรวจวัดอัจฉริยะ (Smart Metering)
              เทคโนโลยี NB IoT เหมาะสมกับการใช้เชื่อมต่อ Sensor ขนาดเล็กที่ใช้ตรวจวัดปริมาณต่างๆ เช่น ปริมาณแก๊ส ระดับน้ำ ระดับความชื้น ระดับฝุ่น PM2.5 ซึ่ง Sensor เหล่านี้มักถูกติดตั้งในพื้นที่ที่สัญญาณคลื่นมือถือทั่วไปเข้าถึงได้ยาก เช่น บริเวณส่วนลึกของชั้นใต้ดิน หรือพื้นที่ในชนบท ซึ่ง NB IoT สามารถปล่อยสัญญาณได้ครอบคลุมและทะลุทะลวงได้ในพื้นที่ดังกล่าว
  • ระบบติดตามอัจฉริยะ (Smart Tracking)
              NB IoT เหมาะสมสำหรับใช้ในระบบติดตามสิ่งที่ไม่ได้เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา เช่น วัตถุ, ผู้คน, สัตว์และทรัพย์สิน ซึ่งสามารถติดตามได้ในระยะไกล โดยมีอัตราสิ้นเปลืองพลังงานต่ำ ประหยัดค่าใช้จ่าย
  • ระบบตรวจสอบสภาพแวดล้อม (Smart Environment)
              เครือข่ายสัญญาณ NB IoT สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์วัดสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามลักษณะของพื้นดิน, มลพิษ, เสียง, ปริมาณน้ำฝน, ทิศทางลม, ระดับออกซิเจนในน้ำ, การตรวจวัดฝุ่น PM2.5 แบบ Real-Time ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาหรือแจ้งเตือนภัย
  • ระบบอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Industrial IoT : IIoT)
              ปัจจุบัน เป็นยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งหลายโรงงานมีการ Transform ไปเป็น Smart Factory ที่เครื่องจักรต่างๆ มีการเชื่อมต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างกัน (M2M : Machine to Machine) เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างอัตโนมัติและลดการพึ่งพามนุษย์ เทคโนโลยี NB IoT จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนทั้งเงิน เวลา และความผิดพลาดในการทำงาน

ตัวอย่างการใช้งานจริงในประเทศไทย

          ปัจจุบันมีการใช้งานโซลูชั่น NB-IoT เชิงพาณิชย์ในประเทศไทยกันอย่างแพร่หลาย อาทิเช่น

  • ปตท. ใช้เครือข่าย NB-IoT ในการตรวจสอบบำรุงรักษาท่อก๊าซธรรมชาติ
  • พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ใช้ NB-IoT เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Smart City ในโครงการอสังหาริมทรัพย์
  • โครตรอนกรุ๊ป ใช้ NB-IoT เชื่อมต่อเครื่องชั่งน้ำหนักหยอดเหรียญ และตู้หยอดเหรียญต่างๆ เพื่อวัดปริมาณเหรียญในตัวเครื่อง และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปเก็บเหรียญออกจากตัวเครื่อง
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำระบบ Smart Environment ตรวจวัดสภาพอากาศและการบริหารจัดการน้ำในเทศบาลนครหาดใหญ่ผ่านทาง NB-IoT
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พัฒนาระบบดูแลคุณภาพยาและเวชภัณฑ์ภายในคลังยา ด้วยการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย NB-IoT
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำระบบ Smart Trash Bin เชื่อมต่อข้อมูลผ่านเครือข่าย NB-IoT แก้ไขปัญหาขยะล้นถังภายในมหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโซลูชัน Smart Locker มาให้บริการภายในมหาวิทยาลัย, มีการพัฒนาระบบอ่านป้ายทะเบียน, ระบบควบคุมแสงสว่าง และอื่นๆ ผ่านเครือข่าย NB-IoT
  • บริษัท แอเรียล คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ประยุกต์ใช้ NB-IoT ในการติดตามอุณหภูมิ โดยนำเซ็นเซอร์มาติดเข้ากับถังเก็บความเย็นที่ใช้ขนส่งเวชภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์แช่แข็ง เพื่อติดตามระดับอุณหภูมิและความชื้นแบบ Real-time และสามารถแจ้งเตือนความผิดปกติผ่านทาง LINE Application

          เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยในการใช้นำเทคโนโลยี NB-IoT มาใช้ เรายังสามารถนำไปใช้ได้อีกหลากหลาย ตามการออกแบบใช้งาน ช่วยให้เราสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยลดต้นทุนด้านต่างๆ เช่น ทรัพยากรมนุษย์, เวลา, การเดินสายสัญญาณ และอื่นๆ และยังทำให้เราสามารถวางแผนงานที่แน่นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตรงเวลา

          NB-IoT เป็นมาตรฐานเครือข่ายไร้สายสำหรับอุปกรณ์ใช้พลังงานต่ำ (LPWAN) ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับอุปกรณ์และโซลูชัน IoT โดยมีความปลอดภัยตามมาตรฐานเช่นเดียวกับเทคโนโลยี 4G LTE แต่เพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อ และลดข้อจำกัดด้านพลังงาน สามารถรองรับการทำงานของอุปกรณ์ IoT ได้ยาวนานถึง 10 ปี โดยไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ สัญญาณสามารถทะลุทะลวงเข้าถึงในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น ท่อน้ำใต้พื้นดิน, ช่องชาร์ปของอาคารสูง แต่ยังคงให้ เหมาะแก่การนำไปใช้ ในทุกกลุ่ม Solutions อาทิ Smart City, Smart Industrial, Smart Logistics และ Smart Home

          NB-IoT เป็นเทคโนโลยีที่รองรับการใช้พลังงานต่ำ สามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้กว้าง และยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT เป็นจำนวนมาก (Massive IoT) จึงเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ LPWA IoT applications เพื่อก้าวไปสู่ 5G Massive IoT ในอนาคต

          ปัจจุบัน ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอย่าง AIS และ True ต่างก็มี Solution เครือข่าย NB-IoT โดยมีซิมการ์ดแบบใช้พลังงานต่ำ (NB-IoT SIM) สำหรับใส่ในอุปกรณ์ IoT ที่รองรับ ซึ่งสามารรับส่งข้อมูลได้ในระยะไกล และสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เข้ากับเครือข่ายมือถือได้เลยโดยไม่ต้องผ่าน Gateway การคิดค่าบริการจะมีลักษณะคล้ายๆ กับซิมมือถือที่เราใช้อยู่ปกติในชีวิตประจำวัน แต่จะมีราคาถูกกว่า เนื่องจากปริมาณ Data ที่ส่งผ่านมีปริมาณน้อยกว่านั่นเอง ช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงาน และช่วยให้ประหยัดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ

หากท่านต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี NB-IoT อาทิ Terminal, Sensor Terminal, Gateway หรือ Router ไม่ว่าจัดสำหรับใช้ภายในหรือภายนอกอาคาร สามารถติดต่อเราเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยครับ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี
Success Network and Communication
Tel : 02-973-1966
Admin : 063-239-3569
E-mail : info@success-network.co.th